วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

กลองสะบัดชัย




       
               กลองสะบัดชัย เป็นกลองพื้นเมืองภาคเหนือ สันนิษฐานว่าเป็นกลองที่ย่อส่วนดัดแปลงมาจากกลองปูจา หรือกลองบูชา โดยมีลูกตุบเป็นกลองขนาดเล็กอยู่ 3 ลูก ติดกับตัวกลองใบใหญ่ ถือว่าเป็นกลองศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ใช้ในการออกศึกสงคราม และประกอบพิธีกรรมต่างๆ มีวิธีการตีอยู่หลายทำนอง ส่วนใหญ่ใช้ตีในทางการศึก แต่ในการตีทำนองชนะศึกนั้นไม่ต้องมีลูกตุบ ภายหลังจึงได้เอาลูกตุบออกกลายมาเป็น กลองสะบัดชัยแบบไม่มีลูกตุบ ครั้นหลังจากหมดศึกสงคราม กลองส่วนใหญ่จะถูกเก็บรักษาไว้ที่วัด ในสมัยต่อมามีคนนำมาใช้ตีในโอกาสต่างๆ เพื่อเป็นพุทธบูชาด้วย
        
     เนื่องจากตัวกลองมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ภายหลังเมื่อมีการนำไปเข้าในขบวนแห่ จึงได้ลดขนาดให้สามารถใช้คนหามได้ 2 คน โดยย่อขนาดให้ลดลงประมาณ 1 ใน 3 ส่วน อย่างที่เห็นใช้ในปัจจุบัน หน้ากลองสะบัดชัย โดยทั่วไปมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 60 ซม. ความกว้างของตัวกลองประมาณ 30 ซม. ขึงหนังสองหน้า รั้งด้วยเส้นเชือกหรือเส้นหนัง ไม้ที่ใช้ตีมี 2 ข้าง


         สำหรับลูกตุบปัจจุบันยังมีการใช้งานอยู่ ซึ่งทั้ง 3 ใบ มีขนาดแตกต่างกันไป ลูกใหญ่สุดหน้ากลองมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 25 ซม. ลูกรองลงมาประมาณ 22 ซม. และลูกเล็กประมาณ 20 ซม. ความยาวของหุ่นลูกตุบประมาณ 26 ซม. ขึ้นหนังหน้าเดียว โดยการตอกหมุดซึ่งทำด้วยไม้เป็นลิ่มเล็กๆ ตอกยึดไว้ให้เหลือปลายหมุดยื่นออกมาในลักษณะสลับฟันปลา ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพัฒนาการของกลองสะบัดชัยพอสรุปได้เป็น 3 ยุค คือ
         ยุคแรก เป็นกลองสองหน้าขนาดใหญ่ มีลูกตุบ ที่มักเรียกว่า กลองปูจาหรือกลองบูชา แขวนอยู่ในหอกลองของวัดต่างๆ ลักษณะการตีมีจังหวะหรือทำนองทั้งช้าและเร็ว ใช้ประกอบศาสนกิจของสงฆ์
         ยุคหลังสงคราม ระหว่างไทยกับพม่า เป็นกลองสองหน้า มีลูกตุบ แต่มีการย่อส่วนตัวกลองใหญ่ให้เล็กลง มีคานหามเพื่อสะดวกในการเคลื่อนย้ายเรียกว่า กลองสะบัดชัยลูกตุบ เวลาตีมือข้างหนึ่งจะถือ ไม้แสะ ซึ่งทำจากหวายขนาดเล็กคล้ายไม้เรียวยาวประมาณ 40 ซม. อีกข้างหนึ่งจะถือไม้ตีกลอง อาจมีฉาบและฆ้องประกอบด้วยหรือไม่ก็ได้ ปัจจุบันเกือบสูญหายไปแล้ว มีผู้ที่ตีได้อยู่เพียงไม่มากนัก
         ยุคปัจจุบัน เป็นกลองสองหน้า ไม่มีลูกตุบ ใช้คนหาม 2 คน มีฉาบและฆ้องตีประกอบจังหวะ และมักจะใช้ไม้แกะเป็นรูปพญานาคทาสีสวยงามประดับไว้ที่ตัวกลองด้วย ส่วนลีลาในการตีมีลักษณะโลดโผน เร้าใจ มีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น ศอก เข่า ศีรษะ ประกอบในการตีด้วย ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายมากในปัจจุบัน
         โอกาสในการใช้กลองสะบัดชัย ยังมีปรากฏให้เห็นในวรรณกรรมต่างๆ มากมาย เช่น ใช้ตีบอกสัญญาณ, ใช้แสดงเป็นมหรสพ, ใช้เป็นเครื่องประโคมฉลองชัยชนะ และใช้เป็นเครื่องประโคมเพื่อความสนุกสนาน ในปัจจุบันศิลปะการตีกลองสะบัดชัย ได้นำชื่อเสียงมาสู่วัฒนธรรมพื้นบ้านล้านนา อยู่ในฐานะตัวแทนทางวัฒนธรรม ซึ่งสามารถพบเห็นได้ในโอกาสต่างๆ เช่น งานขันโตก งานพิธีต้อนรับแขกเมือง ขบวนแห่ เป็นต้น

รูปร่างลักษณะกลองสะบัดชัย


       รูปร่างลักษณะแต่เดิมนั้น เท่าที่พบมีแห่งเดียว คือกลองสะบัดชัยจำลองทำด้วยสำริด ขุดพบที่วัดเจดีย์สูง ตำบลบ้านหลวง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ กลองสะบัดชัยดังกล่าวประกอบด้วยขนาดกลองสองหน้าเล็ก 1 ลูก กลองสองหน้าขนาดใหญ่ 1 ลูก ฆ้องขนาดหน้ากว้างพอ ๆ กับกลองใหญ่อีก 1 ใบ พร้อมไม้ตีอีก 3 อัน หน้ากลองตรึงด้วยหมุดตัดเรียบมีคานหามทั้งกลองและฆ้องรวมกัน
              ส่วนที่พบโดยทั่วไป คือกลองสะบัดชัยที่แขวนอยู่ตามหอกลองของวัดต่าง ๆ ในเขตล้านนา ซึ่งมักจะมีลักษณะเหมือนกัน คือมีกลองสองหน้าขนาดใหญ่ 1 ลูก หน้ากว้างประมาณ 30
ในปัจจุบันมีการใช้กลองสะบัดชัย ตีในงานบุญ เช่น งานสลากภัตต์ ลักษณะนี้จะตีจังหวะเร่งเร็วเสมอต้นเสมอปลาย โดยมีคนใช้แส้ไม้ไผ่ที่เรียกว่าไม้แสะ ฟาดหน้ากลองด้วยจังหวะ แต่ไม่มีฉาบ และฆ้องประกอบ(ทำนองออกศึก) ลักษณะการตีดังกล่าวทั้งหมดเป็นการตีอยู่กับที่ ภายหลังเมื่อเข้าขบวนก็ได้ใช้จังหวะหรือทำนอง สะบัดชัยไม่ใช้ไม้แสะ(ทำนองชนะศึก)

ปัจจุบันนี้กลองสะบัดชัยคงเหลือไว้เป็นกลอง 3 ประเภท คือ
                1. กลองสองหน้าขนาดใหญ่ มีลูกตุบ ที่มักเรียกว่า กลองบูชา แขวนอยู่ในหอกลองของวัดต่างๆ ลักษณะการตีมีจังหวะหรือทำนองที่เรียกว่าระบำ ทั้งช้าและเร็ว บางระบำมีฉาบและฆ้อง บางระบำมีคนตีไม้แสะประกอบอย่างเดียว
                2. กลองสองหน้ามีลูกตุบและคานหาม เรียกว่ากลองชัย (สะบัดชัยลูกตุบ) เวลาตีผู้ตีจะถือไม้แสะข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่ง ถือไม้ตีกลอง การตีลักษณะนี้อาจมีฉาบและฆ้อง ประกอบ หรือไม่มีก็ได้ ปัจจุบันกลองสะบัดชัยประเภทนี้เกือบสูญหายไปแล้ว ผู้ที่ตีได้และยังมีชีวิตอยู่เท่าที่ทราบคือพ่อครูมานพ(พัน) ยารณะ ซึ่งเป็นศรัทธาวัดสันป่าข่อย อ.เมือง จ.เชียงใหม่
                3. กลองสองหน้า มีคานหาม ไม่มีลูกตุบ(กลองละบัดชัยสมัยใหม่) มีฉาบและฆ้องประกอบจังหวะ และมักมีนาคไม้แกะสลักประดับ ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นลายของพ่อครูคำ กาไวย์ ชาวบ้านแพะขวาง อ.หางดง จ.เชียงใหม่

ใช้ตีบอกสัญญาณ
 
                1.สัญญาณโจมตีข้าศึก

                2.สัญญาณบอกข่าวในชุมชน


เป็นเครื่องประโคมฉลองชัยชนะ

                วรรณกรรมเรื่องอุสสาบารส ผูกที่12 ตอนพระขิตราชรบศึกชนะก็มีการตีกลองสะบัดชัยเฉลิมฉลอง ‘' ส่วนว่าริพลโยธาพระขิตราชก็ตี กลองสะบัดชัย เหล้นม่วนโห่ร้องอุกขลุกมี่นันนัก เสียงสนั่นก้องใต้ฟ้าเหนือดินมากนัก    ปุนกระสันใจเมืองพานมากนัก หากได้แล้วก็ตีค้อง กลองสะบัดชัย สงวนม่วนเหล้น กวัดแก่วงดาบฟ้อนไปมา

      ลิงก์เพจ facebook




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น